วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เปิดใจคนเขียนบท “ทวิภพ” กับละครที่ถูกสับเละที่สุดในรอบปี

"ดูทวิภพเวอร์ชั่นนี้แล้วปวดตับ" เป็นคำสรุปรวมความรู้สึกของผู้ชมที่มีต่อละครโทรทัศน์เรื่องทวิภพ โดยก่อนหน้าที่จะอาการ 'ปวดตับ' จะเกิดขึ้น
ความรู้สึกซึ่งดังก้องอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีตั้งแต่


“บทละครเวอร์ชั่นนี้นำบทประพันธ์ของทมยันตีมายำเสียจนไม่เหลือเค้าเดิม” , “ตัวละครมณีจันทร์ก๋ากั๋นเกินงามและบ้าผู้ชายเกินเหตุ” , “ตัวละครอื่นๆ ตั้งแต่ดร. ตรองไปจนถึงคุณหญิงแสร์ก็ผิดเพี้ยนไปจากคาแรกเตอร์ในบทประพันธ์ชนิดที่ที่เหมือนกันแค่ชื่อเท่านั้น” ฯลฯ

ความรู้สึกไม่ได้ดั่งใจกับทวิภพเวอร์ชั่นนี้ลุกลามไปจนเกิดการตำหนิไปถึงทุกองค์ประกอบแต่ศูนย์รวมความไม่สบอารมณ์ตกไปอยู่ที่ “คนเขียนบทโทรทัศน์” ซึ่งผู้ชมหลายคนยกความผิดให้เธอแบกรับไปเต็มๆ หลังจากนิ่งฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์มานาน 'นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์' นักเขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลังทวิภพเวอร์ชั่น 2011 ซึ่งถูกยกให้เป็น “ละครที่ถูกสับเละที่สุดในรอบปี” อย่างไม่เป็นทางการไปแล้วก็ขอลุกขึ้นมาบอกกล่าวถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ 'ทวิภพ -ทวิเพี้ยน' ให้ผู้ชมได้รับรู้กันสักที

+ เพราะอะไรคุณถึงตีความทวิภพออกมาในกลิ่นรสที่แตกต่างไปจากเดิมถึงขนาดนี้?
"เนื่องจากผู้ที่ทำทวิภพในเวอร์ชั่นที่แล้วก็เป็นดาราวิดีโอ ถ้าเราคิดง่ายๆ ว่าถ้าดาราวิดีโอจะใช้บทเก่าที่ตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ก็ได้ แต่ดาราวิดีโอเลือกที่จะทำทวิภพให้เป็นสมัยใหม่ ยุค พ.ศ. 2554 จริงๆ เราจะสังเกตว่านางเอกก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองมาจากพุทธศักราชสองพันห้าร้อยยี่สิบกว่าซึ่งเป็นปีที่บทประพันธ์เกิดขึ้น มณีจันทร์บอกว่าตัวเองมาจากปี พ.ศ. 2553 ก็คือปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นทวิภพเป็นบทประพันธ์ที่อันตรายในการที่จะได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง สาเหตุเพราะว่าคนไทยทั่วประเทศจะรู้จักทวิภพอยู่แล้ว และเป็นบทประพันธ์ที่แน่นอนเลยว่าจะมีการรีเมคอีกเรื่อยๆ ในทุก 10 ปีที่ผ่านไป เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องทวิภพในแต่ละเวอร์ชั่นควรจะมีเอกลักษณ์ส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน เช่นละครเวทีต้องเล่าให้สั้น ภาพยนตร์ก็ต้องเล่าในมุมที่ทันสมัย ล้ำไปเลย"

"สำหรับทีวี สิ่งที่เหมาะกับทีวีจริงๆ คือการเข้าถึงคนส่วนใหญ่ เพราะว่าเรามีทีวีเครื่องเดียว มีคนตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ดูทีวีเครื่องเดียวกัน มีคนตั้งแต่มีการศึกษาสูงมากๆ จบด็อกเตอร์ไปจนถึงคนที่ไม่ได้มีการศึกษามากนักต้องการเข้าใจอะไรง่ายๆ ดูทีวีเครื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นทวิภพก็จะถูกตีความสำหรับแมส(Mass)จริงๆ สำหรับมวลชนจริงๆ เพื่อให้ทุกคนที่ไม่ได้อ่านนวนิยาย เพราะต้องยอมรับจริงๆ นะว่าคนไทยอ่านนวนิยายน้อยมาก แต่ว่าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงทวิภพได้เท่ากับคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นสื่อโทรทัศน์ก็จะออกมาเพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้ คือกลุ่มเด็ก กลุ่มที่ไม่เคยมีแบ็คกราวน์ของทวิภพมาก่อน กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่การอ่านนิยายไม่ใช่พฤติกรรมปกติของเขา จุดมุ่งหมายรวมๆ ของทวิภพก็คือเพื่อสืบต่ออายุของวรรณกรรม"

"เอาง่ายๆ เลยถ้าสมมุติมีคนไปอ่าน ไปซื้อหนังสือทวิภพมากขึ้นเพราะละครเรื่องนี้ หรือว่าเด็กอายุต่ำกว่า 20 -30 รู้สึกว่าอยากเดินเข้าห้องสมุดเพื่ออ่านทวิภพเวอร์ชั่นออริจินัล อย่างนี้ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จแล้วล่ะ แต่ว่าสิ่งที่เขากำลังถกเถียงกันอยู่ เรื่องประวัติศาสตร์ถูกต้องไหม ทวิภพเวอร์ชั่นนี้มีความคลาสสิคพอไหม พวกนี้เป็นจุดประสงค์ของเราหมด เพราะละครควรจะทำให้คนคิด ให้คนวิจารณ์ ทีนี้ของสำคัญสี่อย่างเกี่ยวกับทวิภพก็คือ คุณทมยันตี(นามปากกาของคุณหญิงวิมล เจียมเจริญ) หนังสือวรรณกรรมทวิภพ ร.ศ. 112 และก็บรรพบุรุษไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ทวิภพต้องทำหน้าที่ 4 อย่าง เวลามีการถกเถียงกันทำให้ของสี่อย่างนี้ถูกพูดถึง ทุกครั้งที่ถูกพูดถึงเป็นเรื่องที่ดีหมดเลยสำหรับละคร เพราะทำให้ทุกคนอยากรู้ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร แล้วก็จะไปค้นหามากขึ้น ไปค้นหาประวัติศาสตร์มากขึ้น ไปค้นหาหนังสือตัวจริงมาอ่านมากขึ้น เพราะคนไทยจริงๆ ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ร.ศ. 112 ได้รู้มากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นจุดประสงค์จริงๆ ของการตีความเวอร์ชั่นนี้โดยสรุปก็คือก็ให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเหมาะสมกับสื่อประเภททีวีที่ต้องการเข้าถึงคนจำนวนมาก แล้วก็อาจจะมีสีสันที่ฉูดฉาดเพราะต้องยอมรับว่าสื่อทีวีเป็นสื่อที่มีการ แข่งขันสูง เราก็ต้องมีการแย่งชิงพื้นที่จากคู่แข่งบ้าง(หัวเราะ) นี่คือเหตุผลน่ะค่ะ"

+ โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับการตีความทวิภพให้ออกมาเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันคืออะไร?
"สิ่งที่กลัวที่สุดสำหรับโปรดักชันทวิภพเวอร์ชั่นนี้ ดิฉันเข้าใจว่าเป็นการที่คนไทยเกือบทั้งประเทศรู้จักทวิภพอยู่แล้วว่าดำเนินเรื่องอย่างไร จบอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่จะทำให้คนเปิดดูละครที่ตัวเองรู้เรื่องอยู่แล้ว เพราะมันออกมาในทุกสื่อ แล้วปมเรื่องของเขาก็เป็นเรื่องที่ง่ายๆ แล้วแถมยังต้องเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องที่ยากที่จะอธิบายอีก นี่เป็นโจทย์ที่ยากมากที่จะทำให้คนไม่รู้สึกเบื่อทวิภพที่จะกลับมาดูใหม่ จริงๆ ทางช่องก็รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว ถ้าพูดจริงๆ ก็ไม่ได้หวังว่าจะเรตติ้งสูงอะไรมาก แต่ทางช่องถือบทประพันธ์ทวิภพมาตั้งนานแล้ว ในเมื่อเวอร์ชั่นเก่ากับเวอร์ชั่นนี้ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว ได้เวลาที่จะเอากลับมาให้คนรุ่นนี้ได้ดูอีกทีนึง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ทางช่องก็มีเจตนาที่ดีนะคะ"

+ สรุปว่าจุดประสงค์ของคนเขียนบทก็คือต้องการจะสื่อสารในวงกว้างโดยเน้นที่เด็กและคนที่ไม่เคยอ่านทวิภพ?
"ถูกต้อง"

+ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคนที่เคยอ่าน คนที่คุ้นเคยกับทวิภพกำลังวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากๆ?
"ดิฉันไม่รู้สึกผิดคาดอะไรนะ(หัวเราะ) เพราะว่าดิฉันเป็นคนอ่านนิยายทวิภพมาก่อน ตอนเด็กๆ ก็จะอ่านซ้ำๆ เหมือนกับเขา ทวิภพติดอันดับนิยายที่มีคนอ่านเยอะที่สุด แล้วอ่านซ้ำกันด้วย เพราะทวิภพไม่เหมือนคู่กรรม คู่กรรมมีความเศร้าอยู่ ทวิภพมีแต่ความสุข คนอ่านทวิภพมีโอกาสสูงมากที่เขาอ่านแล้วจะยึดติดเพราะเขาอ่านหลายรอบ เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าพูดถึงดีกว่าไม่พูดถึง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการเงียบไปเลย(หัวเราะ) สำหรับคนทำสื่อ เรื่องด่าจริงๆ เป็นสิทธิ์ของเขา เขาจะบ่นยังไงก็ได้ แต่เขายังดูอยู่"

"คนไทยเนี่ยพอดูละครเสร็จตอนเช้าไปร้านอาหาร ร้านข้าวแกงต้องเม้าท์เรื่องละคร เป็นเรื่องธรรมดามาก ทีนี้ในมุมที่เขาเม้าท์ก็อาจจะมีบางคนที่เขารับไม่ได้เลย อันนี้เราก็ต้องเคารพความคิดเขา แต่ก็มีบางคนที่รับไม่ได้แต่ก็ยังดูอยู่อย่างเหนียวแน่น ดูไปบ่นไป นี่ก็จะเป็นคาแรกเตอร์อีกประเภทหนึ่งที่เราว่าเป็นเรื่องดีมากกว่าเรื่องไม่ดี ยิ่งพูดกันมากๆ ก็ยิ่งดู เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาพูดกันเนี่ย ละครเพิ่งฉายไปไม่ถึงครึ่งเลย อย่างเช่นเขาพูดในมุมที่ว่ามณีจันทร์ดูติ๊งต๊องเกินไป มันยังมาไม่ถึงครึ่ง ผู้หญิงอย่างมณีจันทร์อาจจะมีมุมที่คุณคาดไม่ถึงอยู่ก็ได้ซึ่งอยู่ในครึ่งหลังของเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเปิดใจดูต่อไปอีกนิดนึงก็จะเห็น"

"ทวิภพเวอร์ชั่นนี้ตอนที่ดิฉันเขียน ดิฉันก็ตัดเอาบทประพันธ์มาใส่หรือบางทีก็ใช้ทั้งฉากเลย ก็เข้าใจเขานะเขาก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าเรายำอะไรมากมาย เพราะแก่นของเรื่องก็ยังอยู่หมด ฉากสำคัญของเรื่องก็แทบจะอยู่หมดเลย เพราะว่าทวิภพเหมาะที่จะเอามาทำเป็นละครโทรทัศน์อยู่แล้ว วิธีเล่าของคุณหญิง(ทมยันตี)เป็นสถานการณ์ที่สนุกอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องไปดัดแปลง ก็เอาสถานการณ์ของเขามาใช้ ดิฉันก็เปิดนวนิยายแล้วก็พิมพ์ตามเลยบ่อยนะคะเพราะฉะนั้นเวอร์ชั่นนี้ที่เขาบอกว่าไม่เหมือนบทประพันธ์จริงๆ ดิฉันว่าเยอะไปนิดนึง จริงๆ แล้วก็ค่อนข้างเหมือน เพียงแต่ว่ามีการตีความบางอย่าง อย่างเรื่องคาแรกเตอร์ให้มีสีสัน แต่จริงๆ คนที่บ่นเขาก็เข้าใจแหละ เพียงแต่ว่าดูไปบ่นไปจะสนุกกว่าดูเฉยๆ มั้ง ไม่รู้เพราะอะไร(ยิ้ม)"

+ คุณต้องการจะบอกว่าคาแรกเตอร์ที่ต่างจากบทประพันธืคือสีสันที่คุณใส่เข้ามา?
"ใช่ค่ะ แล้วก็มีการเพิ่มตัวละครหรือการเพิ่มเส้นเรื่องของตัวรอง สาเหตุก็เป็นเพราะเป็นเรื่องปกติของนวนิยาย เพราะนวนิยายสำหรับการทำละครจะสั้นเกินไป หมายความว่ามันจะเล่าประมาณสักแปดตอนจบ ถ้ายึดตามหนังสือ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการเพิ่มเส้นเรื่อง เช่น เพิ่มตัวละครอย่างคุณอาณัติ(หลวงเจนพาณิช) ปุ๊กลุ๊ก (ประยงค์)หรือการเปลี่ยนเรื่องของกุลวรางค์กับตรองอย่างนี้จะอยู่ในหมวดเดียวกัน ก็คือไม่ใช่ว่าเราต้องการไปยำบทประพันธ์หรอก แต่เป็นการเพิ่มสตรอรี่(Story)เข้าไปเพื่อให้บทประพันธ์สามารถยืนโรงอยู่ได้สักสิบกว่าตอนออกอากาศ"

+ ล่าสุดมีบทความในมติชนสุดสัปดาห์ที่วิจารณ์ทวิภพซึ่งเน้นไปที่ตัวมณีจันทร์ที่ดูเหมือนจ้องจะจับผู้ชาย คุณจะตอบบทความดังกล่าวว่าอย่างไร(อ่านบทความนี้ได้ในตอนท้าย)?
"ก็เป็นสิทธิของเขา แต่เขาตีความเร็วไปนิดนึง เพราะว่าตัวละครมณีจันทร์มีพัฒนาการ พอเข้าครึ่งเรื่องหรือเข้าท่อนหลังของเรื่องจะเห็นมณีจันทร์ชัดเจนขึ้นในเรื่องความเป็นผู้หญิงยุคใหม่ของเธอ ซึ่งการเข้าหาผู้ชายของมณีจันทร์เป็นนิสัยขี้เล่นแบบเด็กๆ ของเขา ไม่ใช่นิสัยบ้าผู้ชาย(หัวเราะ) เพราะมณีจันทร์ไม่ได้มีนิสัยบ้าผู้ชาย ในความคิดดิฉันนะคะ ที่เป็นแบบนั้นเพราะมณีจันทร์ติดนิสัยความเป็นเด็ก ซึ่งในบทประพันธ์ก็มี อย่างเช่นมณีจันทร์เข้าไปในห้องเขาจะสนใจตุ๊กตา มีอยู่ฉากหนึ่งในบทประพันธ์ เราอธิบายคาแรกเตอร์ของเขาด้วยการขยายบางมุมเท่านั้นเอง"

"ส่วนคำว่าผู้หญิงสมัยใหม่ จริงๆ มณีจันทร์มีความเข้าใจในเชิงประวัติศาสตร์ แล้วก็การทำงานอยู่บ้าง เพียงแต่ช่วงต้นๆ ยังไม่ได้ออก บทความนี้ก็จะตีความเร็วไปนิดนึงว่าเขาบ้าผู้ชาย แต่ในความหมายจริงๆ ที่ดิฉันสื่อออกไปเป็นเรื่องของความที่เขาเป็นคนมีนิสัยเด็กๆ ขี้เล่น ขี้แกล้ง ขี้อำคน ประเดี๋ยวพอเขาเลิกอยู่กับคุณหลวงจะเห็นว่าเขาไปอำคนอื่นด้วย เขาอำคนไปหมดทุกคนเลย เพราะความที่เขาเป็นคนนิสัยแบบนี้ จะเห็นว่าแก๊งค์เพื่อนเขาก็จะเป็นคนนิสัยแบบนี้ คือคนสดใส แต่เป็นคนฉลาดหมดเลย เพราะฉะนั้นการตีความว่าบ้าผู้ชายก็เกินไปนิดนึง ในความรู้สึกดิฉันก็คือเขาแค่เป็นคนที่ขี้เล่น ขี้หยอกคน แต่บังเอิญช่วงต้นที่เราเล่าเรื่อง เขายังติดอยู่ในห้อง ซึ่งมีคนๆ เดียวให้เขาเล่นก็คือคุณหลวง แต่ประเดี๋ยวจะเห็นชัดขึ้นว่าพอออกไปจากห้องแล้วเขาจะขี้เล่นไปหมดเลยกับทุกๆ คน กับทุกๆ อย่างที่เขาได้เจอด้วย"

"พอเข้าตรงกลางจะเห็นพัฒนาการของมณีจันทร์ซึ่งเขาเป็นผู้หญิงยุคสมัยใหม่ที่น่าภาคภูมิใจอีกคนหนึ่งนะ ในความรู้สึกของผู้หญิงด้วยกัน เขาเป็นคนที่มีความสามารถ มีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ มุมนี้ของมณีจันทร์ยิ่งใหญ่กว่าการที่เขาบ้าหรือไม่บ้าผู้ชาย นี่คือเรื่องใหญ่เลยที่ตัวมณีจันทร์จริงๆ ในหนังสือมี ในละครก็มี แต่จะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงกลางๆ และช่วงท้ายของเรื่อง"

+ คุณรู้สึกอย่างไรที่มีบางคนแซวว่าทวิภพเวอร์ชั่นนี้เป็นซี่รี่ย์เกาหลีไปแล้ว?
"(หัวเราะ)ก็ขำนะ เพราะว่าจริงๆ ดิฉันก็มีชื่อทางด้านเขียนเรื่องโรแมนติกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทางผู้ใหญ่เลือกคนเขียนบทกลางๆ แทนที่จะเลือกคนเขียนบทระดับผู้ใหญ่ สาเหตุนี่เขาไม่เคยบอกแต่เชื่อว่ามาจากการที่ต้องการให้ทวิภพอยู่ในโซนของคนวัยกลางๆ คือคนยุคใหม่จริงๆ ซึ่งพี่ก็รู้สึกชอบ โมเมนต์ที่มีคนพูดว่าเริ่มเป็นซี่รี่ย์เกาหลีอะไรแบบนั้นนะ เพราะว่าจริงๆ แล้วเวลาเราตีความคุณค่าของของสิ่งหนึ่งไม่ได้หมายความว่าถ้ามันสดใสขึ้นแล้วจะแปลว่าลดคุณค่าลง ดิฉันไม่ได้ตีความแบบนั้น ในความรู้สึกของดิฉันคิดว่านี่เป็นคำชื่นชมนะ"

+ ตั้งแต่เห็นทวิภพเวอร์ชั่นนี้ออกมาเป็นละครคุณพอใจมากน้อยขนาดไหน?
"พอใจมากนะคะ เพราะว่าละครเรื่องนี้เขาตั้งใจทำมาก จะเห็นว่าเป็นละครที่ปิดกล้องก่อนออกอากาศ แล้วแค่มีหน้าละครก็ขายให้ประเทศจีนได้แล้ว แสดงว่าคุณภาพของมันต้องผ่านตาคนดูพอสมควรถึงขายออกได้ทันที แล้วตัวสตรอรี่(Story)เวลาที่ออกมา นานแล้วที่เราไมได้ดูพีเรียด(Period)แบบดาราวิดีโอ ถามว่าพีเรียดอย่างดาราวิดีโอเกิดขึ้นเนื่องจากผู้กำกับทั้งสองท่านแล้วก็คนที่ทำงานอยู่เป็นคนรุ่นเก่าที่ทำทวิภพเวอร์ชั่นเดิม ทำละครสายโลหิต อย่างโรงถ่ายก็เป็นโรงถ่ายเดิมที่คนรุ่นดิฉันรู้สึกคุ้นแล้วก็คิดถึง ตัวแสดงหลักทั้งสองคนเขาตั้งใจมากรวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย"
" เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่าการสื่อสารของการเป็นคุณหลวง มณีจันทร์ คุณหญิงแสร์อะไรเนี่ยออกมาชัดมากแล้วก็น่าดู รวมโปรดักชันที่ทำโดยคนปัจจุบันท่านก็อายุเยอะกันแล้วนะ อย่างคุณเพ็ญลักษณ์ ป๋ามานพ(มานพ สัมมาบัติ)นี่ก็เสียชีวิตแล้ว เพราะฉะนั้นทวิภพเวอร์ชั่นหน้าก็ยังพูดกันเลยว่าพี่ติ๋ม(เพ็ญลักษณ์ อุดมสิน)จะอยู่ทำให้ไหม(หัวเราะ) เพราะจริงแล้วทวิภพเกี่ยวข้องกับยุคสมัย อย่างตัวดิฉันเองก็ไม่รู้ทุกเรื่องเพราะเป็นคนยุคตรงกลาง ต้องใช้คนที่อายุเยอะๆ หน่อยถึงจะเข้าใจว่าไอ้ที่แปรงฟันของมณีจันทร์หน้าตาเป็นอย่างไร ทีนี้ถ้าเลื่อนไปในอนาคตข้างหน้าดิฉันก็ไม่รู้ว่าเราจะได้เห็นกันอีกไหม เพราะพูดจริงๆ คนที่ทำท่านก็อายุเยอะกันหมดแล้ว ท่านรีไทร์ไปเราก็จะไม่ได้ดูแล้ว"

+ ได้ยินมาว่าแท้จริงแล้วคุณตั้งใจเขียนบทละครเรื่องทวิภพเป็นอย่างมาก?
"ก็ถ้าถามว่ามีความพิเศษอะไรก็ตรงที่ว่าดิฉันอ่านนวนิยายครั้งแรกตอนเด็ก ดิฉันอ่านคู่กรรมของคุณทมยันตี เพราะฉะนั้นดิฉันถือว่าคุณทมยันตีเป็นไอดอลของการเป็นนักเขียน แล้วทวิภพเป็นเรื่องหนึ่งอย่างที่เล่าว่าอ่านตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้วจะอ่านทุกปิดเทอม ทีนี้การที่ได้เข้ามาเขียนทวิภพทั้งๆ ที่ตัวเองอายุยังกลางๆ อยู่แบบนี้ ก็ถือว่าเป็นของขวัญ เป็นเรื่องที่ดีของชีวิต ถือเป็นเกียรติ นี่คือความประทับใจส่วนตัว รู้สึกว่าได้มาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทวิภพเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ ก็เป็นเกียรติ เป็นเรื่องภูมิใจ อันนี้เป็นความพิเศษของทวิภพในส่วนตัวของดิฉันค่ะ"

+ ฝากถึงคนที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ทวิภพเวอร์ชั่นนี้อยู่ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ?
"ทุกครั้งที่มีการวิจารณ์เป็นเรื่องดีหมดเลย อย่างที่ดิฉันบอกมันทำให้ชื่อของทวิภพ ชื่อของรศ. 112 ชื่อของบรรพบุรุษไทยได้กระจายออกไป เพราะฉะนั้นดิฉันก็รู้สึกขอบคุณกับคำวิจารณ์ต่างๆ ทั้งบวก ทั้งลบ แล้วก็อยากให้ดูไปจนจบ จริงๆ แล้วในหมวดของละคร ละครนี้เป็นละครค่อนข้างสร้างสรรค์สังคมนะ ยิ่งมีคนวิจารณ์ ยิ่งมีคนดูมากขึ้นเรื่อยๆ คำวิจารณ์จะส่งคืนมาที่สถานี ทำให้เขารู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะทำละครเชิงสร้างสรรค์สังคมหลังข่าวน่ะ เพราะว่าถ้าสมมุติว่ามันเงียบมาก เขาก็อาจจะรู้สึกว่าเรากลับไปทำน้ำเน่าหรือตบจูบดีกว่าไหม (หัวเราะ) นี่คือสิ่งที่ดิฉันกังวลว่าเวลามีละครสร้างสรรค์สังคมขึ้นมาสักที ให้คนพูดถึงเยอะๆ ให้คนช่วยกันดู ช่วยกันรักษาเรทติ้งให้เขามีกำลังใจว่าเขายังสามารถที่จะทำงานสร้างสรรค์สังคมอยู่บนการแข่งขันสูงๆ ได้ ก็เป็นเรื่องที่อยากฝากไว้มากกว่า ก็มันมายังไม่ถึงครึ่งเรื่องแล้วก็ช่วยอุปถัมถ์ให้มันครบทั้งเรื่องด้วยนะคะ"

…...................................................

'แม่มณี' และทัศนคติว่าด้วย 'ผู้หญิงทันสมัย'
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2554)

ท่ามกลางนวนิยายไทยที่ออกมาล้นตลาดหนังสือ จนจำชื่อทั้งคนเขียน ทั้งชื่อเรื่องที่เขียนกันแทบไม่หวัดไม่ไหว อ้อ ยกเว้นพล็อตที่จำได้ค่อนข้างแม่นเพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยหนีกันไปไหนแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่าเรื่องไหนได้รับความชื่นชอบมากมายเพียงใดจากคนอ่าน คือการหยิบนิยายเรื่องนั้นๆ มารีเมกเป็นละครแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ทวิภพ" โดยนักเขียนนามอุโฆษ "ทมยันตี" ก็เข้าข่ายที่ว่าไปแบบเต็มๆ

เพราะจะข้ามมากี่ภพ ทวิภพก็ยังโดนใจคนดูอยู่เรื่อย มนต์ขลังของบทประพันธ์นำไปสู่การสร้างในลักษณะของภาพเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ ทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวที

รวมถึงล่าสุด ทวิภพ ที่สร้างโดยดาราวีดีโอ ซึ่งได้แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ มารับบทเป็นแม่มณีที่ทะลุกระจกไปหาคุณหลวงอัครเทพวรากร อ๋อม-อรรคพันธุ์ นะมาตร์ ทางช่อง 7 สี

ในฐานะที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก และไม่ได้อ่านเพียงครั้งเดียวด้วย น่าจะมีสิทธิที่พอบอกได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ทวิภพครองใจและสามารถเดินทางข้ามผ่านกาลเวลาไม่ต่างกับสถานการณ์ในเรื่องนั้น ส่วนหนึ่งนอกจากเพราะซาบซึ้งกับการพรรณนาผ่านตัวอักษรอย่างละเมียดละไม ซึ่งฝีมือการเขียนระดับทมยันตีก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้มากความอีก ว่าเขียนได้เลิศขนาดไหนแล้วนั้น

จุดเด่นอีกประการของนวนิยายเรื่องนี้คือ การเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในสิ่งที่ดีงามของแต่ละห้วงสมัยระหว่างคนยุคสมัยรัชกาลที่ 5 และคนยุคปัจจุบัน ในทัศนคติ กิริยา และวิถีชีวิตต่างๆ ทั้งในเรื่องเล็กๆ เชิงปัจเจกอย่างความรักทั้งในระดับคู่รัก ครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด จนไปถึงเชิงชาตินิยม (ประเด็นสุดท้ายเข้าใจดีว่าหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับในสิ่งที่ทมยันตีเขียน แต่ก็ควรให้เกียรติในสถานะของทัศนคติหนึ่ง)

ทมยันตีสร้างตัวละครหลักอย่างคุณหลวงอัครเทพวรากร และมณีจันทร์ ให้เป็นตัวแทนแห่งความดีงามเหมาะสมในยุคสมัยนั้นๆ ส่วนที่ดีสุดของอดีตและปัจจุบันถูกนำมาผสานกลมกลืนระหว่างกัน โดยใช้ประเด็นเรื่องชาตินิยมมาเป็นพอยต์หลัก

บุคลิกเด่นของคุณหลวงคือความเป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้วที่หาแทบไม่ได้ในสมัยปัจจุบัน ในขณะที่จุดเด่นของมณีจันทร์นั้นคือความเป็นผู้หญิงที่ฉลาดเฉลียว มีความมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเอง มีความสามารถสูง เป็นความสวยสง่าที่น่าค้นหา และทะนงตน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในลักษณะร่วมของนางเอกที่พะยี่ห้อทมยันตีไว้ ว่าไม่ว่าจะเรียบร้อย แก่นแก้ว หรือสมัยใหม่แค่ไหน ก็จะมีความรักศักดิ์ศรีแห่งตนอยู่เสมอ

ไม่ใช่ความสวยใสไร้สติแบบแม่มณีเวอร์ชั่น 2011 ที่ดาราวีดีโอนำมารีเมก

สวยใสไร้สติ เข้าหาผู้ชายตลอดเวลา ผู้ชายหลับก็ไปแทะโลมด้วยสายตาอย่างไม่มีสงวนท่าที เรียกว่าถ้าเป็นปลากัดคุณหลวงอัครเทพวรากรคงท้องไปแล้วนั้น ไม่ได้แปลว่านี่คือลักษณะของผู้หญิงสมัยใหม่ หรือความทันสมัยของสาวยุค 2011 อย่างที่ "ผู้เขียนบทละคร" นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ และ "ผู้กำกับ" เพ็ญลักษณ์ อุดมสิน ซึ่งก็ล้วนแต่เป็น "ผู้หญิง" พยายามนำเสนอ

ว่ากันว่าหน้าที่หนึ่งของละคร คือการสะท้อนสังคม หรือนี่จะเป็นลักษณะของผู้หญิงทันสมัยยุคนี้จริงๆ แล้วเราคอนเซอร์เวทีฟจนเกินไป ชักสงสัย

นึกแล้วก็แย้งกับตัวเองทันทีว่าไม่จริงหรอก ผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงทันสมัย ไม่ได้วัดกันที่ท่าทีเช่นนั้นแน่ๆ
เพราะในวันที่เรามี "นายกรัฐมนตรีหญิง" คนแรกของไทย วันที่เรามีผู้นำในองค์กรหรือบริษัทใหญ่ๆ เป็นผู้หญิงในอัตราส่วนที่ไล่เลี่ยกับผู้ชาย ทุกบทสัมภาษณ์ที่พวกเธอเผยทัศนคติต่างๆ ผ่านสื่อ หรือแม้แต่คนธรรมดาๆ รอบตัวที่หน้าที่การงานดีๆ มีคนมากมายนับถือในความสามารถ ชี้ให้เห็นว่าความเป็นผู้หญิงทันสมัยจริงๆ แล้วอยู่ที่ "วิธีคิด" ในเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ความเปิดเผยและกล้าแสดงออกอย่างที่ผู้กำกับเคยสัมภาษณ์ว่าอยากให้มณีจันทร์เวอร์ชั่นนี้เป็นนั้น ไม่ได้แสดงผ่านวิธีคิดหรือทัศนคติของเธอเลย แต่แสดงผ่านท่าทีกับชายหนุ่มที่กล้าจน "เกินงาม" ต่างหาก

เกินงามที่จะกล้าเล่นกับเนื้อตัวและความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายอย่างไม่มีการสงวนกิริยาเลยแม้แต่นิดเดียว ที่ตลกคือเล่นอย่างไม่มีจริตซ่อนด้วยซ้ำ แต่เปิดเผยกันแบบโต้งๆ เลยทีเดียว นี่หรือคือนิยามของคำว่า "ผู้หญิงทันสมัย" ที่ผู้กำกับหวังให้เป็น

ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการปรับบท เพราะเข้าใจดีว่าเป็นส่วนสำคัญของการสร้างตัวอักษรให้เป็นละคร
แต่คำถามคือ แน่ใจหรือว่าสิ่งที่ตีความหมายนั้นถูกต้อง เพราะขนาดละครเวที "ทวิภพ เดอะมิวสิคัล" ที่นัท มีเรีย เบเนเนตตี้รับบทเป็นมณีจันทร์ และเพิ่งลาเวทีไปหมาดๆ มณีจันทร์ยังดูงดงามและพอดิบพอดีในคำว่าทันสมัย

….....................................................
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก